ทำเล ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติยาซูนี ช่วยโอบอุ้มความรุ่มรวยเหล่านี้เอาไว้ โดยตั้งอยู่ตรงจุดตัดระหว่างเทือกเขาแอนดีส เส้นศูนย์สูตร และภูมิภาคลุ่มน้ำอะเมซอน อันเป็นทำเลทองทางนิเวศวิทยา ที่ซึ่งพืชพรรณ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในแถบอเมริกาใต้ มากระจุกกันอยู่อย่างมากมาย ฝนตกหนักเกือบทุกวันตลอดทั้งปี และมีสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลน้อยมาก แสงแดด ความอบอุ่น และความชุ่มชื้นเป็นปัจจัยอยู่คู่กับผืนป่าชั่วนาตาปี
พื้นที่แถบนี้ของลุ่มน้ำอะเมซอน ยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองสองกลุ่ม ได้แก่ ชนเผ่าคิชวาและชนเผ่าเวารานี ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตลอดแนวถนนและแม่น้ำสายต่างๆ การติดต่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างชาวเวารานีกับกลุ่มหมอสอนศาสนาคริสต์นิกาย โปรเตสแตนต์เกิดขึ้นอย่างสันติในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ทุกวันนี้ ชุมชนชาวเวารานีส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการค้า และแม้กระทั่งกิจกรรมการท่องเที่ยวกับโลกภายนอก ไม่ต่างจากชาวคิชวา ซึ่งเป็นอดีตชนเผ่าคู่อาฆาต กระนั้นชนเผ่าเวารานีสองกลุ่มได้หันหลังให้การติดต่อกับโลกภายนอก และเลือกที่จะเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ป่าสูงขึ้นไป ที่เรียกกันว่า โซนาอินตันคีเบล (Zona Intangible) หรือเขตหวงห้ามที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้ แต่โชคร้ายที่บริเวณนี้ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติยาซูนี ไม่ได้ครอบคลุมถิ่นหากินดั้งเดิมทั้งหมดของพวกเขา ส่งผลให้นักรบของสองกลุ่มเข้าทำร้ายและขับไล่ผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากและตัด ไม้ ทั้งภายในและภายนอกเขตหวงห้าม
อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปใต้พื้นดินอุทยานแห่งชาติยาซูนี ยังมีขุมทรัพย์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างเร่งด่วนสำหรับสายใยชีวิตอันล้ำค่าบนผิวดิน นั่นคือน้ำมันดิบแห่งอะเมซอน ปริมาณหลายร้อยล้านบาร์เรลที่ยังไม่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้ ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลและบริษัทน้ำมันร่วมกันกำหนดเขตสัมปทานน้ำมันทับพื้นที่อุทยาน ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีชัยเหนือการอนุรักษ์ในการต่อสู้เพื่อกำหนด ชะตากรรมของอุทยานแห่งนี้ มีแปลงสัมปทานอย่างน้อยห้าแปลงครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของอุทยาน สำหรับประเทศยากจนอย่างเอกวาดอร์ แรงกดดันให้ขุดเจาะน้ำมันนั้น แทบจะเรียกได้ว่าต้านทานไม่ไหวเลยทีเดียว รายได้จากการส่งออกครึ่งหนึ่งของเอกวาดอร์มาจากน้ำมันอยู่แล้ว โดยเกือบทั้งหมดมาจากจังหวัดทางตะวันออกในลุ่มน้ำอะเมซอน